logo ghg
  • Home
  • T-VER
  • Premium T-VER
  • LESS
  • JCM
  • CDM
  • ติดต่อเรา
  • SEARCH

ประเภทโครงการ T-VER

      โครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่สามารถพัฒนาเป็นโครงการ T-VER ได้ ต้องเข้าข่ายประเภทโครงการ ดังต่อไปนี้

     T-VER

  • Hits: 75663

หลักการพื้นฐาน

      เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของคาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการ T-VER มีหลักการพื้นฐานสำคัญ 6 ประการที่ใช้ในการวางแผนและดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกฯ ตลอดจนการคำนวณ ติดตามผล และทวนสอบปริมาณการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของโครงการ ประกอบด้วย
      1) ความตรงประเด็น (Relevance) หมายถึง การเลือกแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก แหล่งดูดกลับก๊าซเรือนกระจก แหล่งข้อมูล รวมถึงวิธีการวัดและคำนวณที่เหมาะสม ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่รวบรวมหรือประเมินได้นั้น ควรที่จะสะท้อนถึงปริมาณการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นภายในโครงการหรือที่เกี่ยวข้องกับโครงการ กล่าวคือ ข้อมูลในเอกสารข้อเสนอโครงการและรายงานการติดตามประเมินผลต้องมีการรายงานและมีการเลือกใช้ข้อมูลในการคำนวณที่เกี่ยวข้องกับโครงการหรืออยู่ในขอบเขตของโครงการตามข้อกำหนดของโครงการ T-VER และระเบียบวิธีที่เลือกใช้เท่านั้น
      2) ความสมบูรณ์ (Completeness) หมายถึง มีการรวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในโครงการหรือเกี่ยวข้องกับโครงการอย่างครบถ้วน กล่าวคือ ข้อมูลในเอกสารข้อเสนอโครงการและรายงานการติดตามประเมินผล มีความครบถ้วน สมบูรณ์ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าใจข้อมูลของโครงการได้ครบถ้วน
      3) ความสอดคล้อง (Consistency) หมายถึง ข้อมูลที่เก็บรวบรวมหรือคำนวณปริมาณการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จะต้องมาจากการดำเนินการตามหลักการเดียวกัน กล่าวคือ การเลือกใช้ข้อมูลในการคำนวณ การรายงานในเอกสารข้อเสนอโครงการและรายงานการติดตามประเมินผล ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือใช้วิธีที่สอดคล้องกันตลอดการรายงาน
      4) ความถูกต้อง (Accuracy) หมายถึง การใช้วิธีการรวบรวมหรือคำนวณปริมาณการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และเป็นที่ยอมรับ กล่าวคือ ข้อมูลในเอกสารข้อเสนอโครงการและรายงานการติดตามประเมินผล ต้องมีการรายงานและมีการเลือกใช้ข้อมูลในการคำนวณที่ถูกต้อง สอดคล้องกับการดำเนินการจริง และมีการเลือกใช้สมการตามระเบียบวิธีการอย่างถูกต้อง สามารถคำนวณผลซ้ำได้
      5) ความโปร่งใส (Transparency) หมายถึง มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมหรือคำนวณปริมาณการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เพียงพอ และเหมาะสม สามารถตรวจสอบได้ กล่าวคือ ข้อมูลในเอกสารข้อเสนอโครงการและรายงานการติดตามประเมินผล มีที่มา แหล่งอ้างอิง หรือหลักฐานรองรับที่น่าเชื่อถืออย่างเพียงพอและเหมาะสม สามารถคำนวณผลซ้ำได้
      6) ความอนุรักษ์ (Conservativeness) หมายถึง มีการใช้สมมติฐาน ตัวเลข และกระบวนการที่ทำให้การประเมินปริมาณการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากโครงการไม่มากเกินไปกว่าความเป็นจริง กล่าวคือ เมื่อมีการใช้สมมติฐานการคำนวณ หรือการประมาณการข้อมูลกิจกรรมที่ใช้ในการคำนวณต้องมีการพิจารณาเปรียบเทียบวิธีต่าง ๆ และพิจารณาเลือกใช้ข้อมูลที่ส่งผลให้ปริมาณการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับไม่เกินจริงเพื่อป้องกันไม่ให้มีการประเมินปริมาณการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกมากเกินไปกว่าความเป็นจริง

 

      นอกจากนี้ ยังมีการประกันความน่าเชื่อถือของคาร์บอนเครดิต ดังนี้
      1) กรอบการดำเนินโครงการ T-VER สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 14064-2
      2) กรอบการตรวจสอบความใช้ได้และการทวนสอบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโครงการ สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 14064-3
      3) ผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ (Validation and Verification Body : VVB) ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อบก.

  • Hits: 33343

หลักการและเหตุผล

      ปัจจุบันนานาประเทศต่างร่วมมือกันที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases : GHGs) ที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน (Global Warming) เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสนานาประเทศพยายามหามาตรการหรือกลไกที่จะส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศของตน โดยให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศน้อยที่สุดจากการศึกษาได้ข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับพบว่า กลไกตลาด (Carbon market) เป็นกลไกที่เหมาะสมในการที่จะส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพในมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์
      องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ได้พัฒนา “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Project : T-VER)” หรือที่เรียกย่อๆ ว่า“โครงการ T-VER” เพื่อเป็นกลไกที่สนับสนุนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ T-VER นี้ ไปจำหน่ายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศได้ และยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ในด้านต่างๆ เช่น ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มรายได้แก่ชุมชน เพิ่มมูลค่าของเสียหรือของเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นต้น ดังนั้น โครงการ T-VER สามารถตอบสนองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสู่เศรษฐกิจเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ (Green Growth Economy and Low Carbon Society) โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้
      1. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจขึ้นในประเทศ
      2. เพื่อส่งเสริมให้เกิดตลาดคาร์บอนในประเทศ สำหรับรองรับสถานการณ์ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต
      3. เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนในการรับมือกับพันธกิจการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

  • Hits: 59377

T-VER คืออะไร

T VER คออะไร

 

โครงการ T-VER คืออะไร

        “โครงการ T-VER” คือ กลไกลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศที่ TGO พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2557 มีชื่อเต็มว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) เรียกย่อว่า T-VER (อ่านว่า ที-เวอ) ซึ่งเป็นกลไกที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน ภาคอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การจัดการของเสีย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการในภาคขนส่ง รวมถึงการปลูกต้นไม้และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นอกจากจะช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้แล้วยังสามารถรักษาและสร้างสมดุลของความหลายหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย

          TGO จะเป็นผู้ให้การขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากโครงการ T-VER โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้ จะเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งสามารถนำไปใช้รายงาน ใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล การจัดงานอีเว้นท์ และจากการผลิตผลิตภัณฑ์ ได้

 

คาร์บอนเครดิต คืออะไร

          "คาร์บอนเครดิต" คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็น การนำไปปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินงานไปรายงาน การนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ ต่างๆ

          โดยคาร์บอนเครดิตมีหลายประเภทตามกลไกลดก๊าซเรือนกระจกที่ดำเนินการ ยกตัวอย่างเช่น คาร์บอนเครดิตจากกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ที่ใช้ซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศพัฒนาแล้วที่มีพันธกรณีต้องลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารเกียวโตกับประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาที่ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไก CDM คาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ที่ TGO ให้การรับรอง เป็นต้น

  

 ประโยชน์ของโครงการ T-VER

  1. ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
  2. เพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก จากการปลูกต้นไม้ อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า
  3. สามารถนำปริมาณคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการรายงานผลการดำเนินงานขององค์กรได้
  4. สามารถนำปริมาณคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ผลิตภัณฑ์ งานอีเว้นท์ และบุคคลได้
  5. สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร

สามารถดูรายละเอียดโครงการ T-VER ได้จาก แนวทางการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) (Guideline for Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER)

 

  • Hits: 166215

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์

      องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ได้พัฒนา

“โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย

(Thailand Voluntary Emission Reduction Project : T-VER)” หรือ “โครงการ T-VER”

เพื่อเป็นกลไกที่สนับสนุนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ T-VER นี้ ไปจำหน่ายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศได้ และยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) เช่น ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มรายได้แก่ชุมชน เพิ่มมูลค่าของเสียหรือของเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นต้น ดังนั้น โครงการ T-VER สามารถตอบสนองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาสู่เศรษฐกิจเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ (Green Growth Economy and Low Carbon Society)

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจขึ้นในประเทศ
  2. เพื่อส่งเสริมให้เกิดตลาดคาร์บอนในประเทศ สำหรับรองรับสถานการณ์ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต
  3. เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนในการรับมือกับ พันธกิจการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
  • Hits: 10794

ระเบียบวิธีการ