คำถาม: หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกข้อเสนอโครงการที่สำคัญมีเรื่องใดบ้าง
คำตอบ:
- สัดส่วนเงินขอรับการสนับสนุนต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ (Cost-effectiveness)
Cost-effectiveness for GHG emission reductions [JPY/ tCO2eq] = Amount of financial support [JPY]) / Total emission reductions of GHGs [tCO2eq]
|
สัดส่วนเงินที่ขอรับการสนับสนุนต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ต้องไม่เกินค่าที่กำหนด ค่าสำหรับโครงการทั่วไป เท่ากับ 4,000 เยน/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และตามการจัดประเภทตามประเภทเทคโนโลยีที่ใช้และจำนวนโครงการต้นแบบ JCM ในแต่ละประเทศ หากในประเทศมีโครงการที่ใช้เทคโนโลยีคล้ายกันอยู่ระหว่าง 5 ถึง 9 โครงการ Cost-effectiveness ควรอยู่ที่ 3,000 เยน/CO2eq หรือต่ำกว่า
ค่าสำหรับโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เท่ากับ 2,500 เยน/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยประสิทธิภาพของแผงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้สามารถคำนวณได้จากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ต่อปีคูณด้วยระยะเวลาคิดเครดิต เช่น โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ขนาด 1 MW สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ระยะเวลาคิดเครดิต 15 ปี ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก จะเท่ากับ 7,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น เพื่อให้สัดส่วนเงินที่ขอรับการสนับสนุนไม่เกิน 2,500 เยน/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ผู้พัฒนาโครงการสามารถรับเงินสนับสนุนได้ไม่เกิน 18.75 ล้านเยน
- ลักษณะของโครงการที่สามารถขอใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศตามแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต
- เป็นโครงการที่ส่งผลให้เกิดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดหรือเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในส่วนเพิ่มเติมจากการดำเนินงานตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
- เป็นโครงการที่สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุตามเป้าหมายของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDC) และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: Thailand LTS)
- เป็นโครงการที่กำหนดการแบ่งสรรคาร์บอนเครดิตที่เป็นธรรม โดยพิจารณาจากสัดส่วนเงินลงทุน หรือกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ/กรอบความตกลงระหว่างประเทศ หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
- เป็นโครงการที่กำหนดระยะเวลาการรับรองคาร์บอนเครดิต (Crediting period) ไม่เกินระยะเวลาการดำเนินงานตามเป้าหมายของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC implementation period) ในแต่ละช่วงเวลา
- เป็นโครงการที่มีการส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง และการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินเพื่อการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการลดก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดหรือเป็นการเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก
- ผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการที่ดำเนินการในประเทศไทยที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ ต้องได้รับการรับรองในหน่วยตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า