แนวทางการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบ
โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย
กระบวนการตรวจสอบใช้ได้และทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ (Validation and Verification Body: VVB) เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญในการดำเนินโครงการ T-VER เพื่อตรวจสอบเงื่อนไขของโครงการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ อบก. และข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้มีความถูกต้องและโปร่งใส ตลอดจนเพิ่มความน่าเชื่อถือของโครงการ T-VER อบก. กำหนดให้ระดับของการรับรองในการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบ โครงการ T-VER อยู่ในระดับสมเหตุสมผล (Reasonable level of assurance) และมีการประเมินข้อมูลก๊าซเรือนกระจกทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณต้อง ปราศจากความผิดพลาด การละเว้น และการบิดเบือนใดๆ ที่มีนัยสำคัญ และ อยู่ในระดับความมีสาระสำคัญที่กำหนดเท่ากับร้อยละ 5
“การตรวจสอบความใช้ได้ (Validation)” โครงการ T-VER หมายถึง กระบวนการที่ทำอย่างเป็นระบบ มีความเป็นอิสระ และบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ของโครงการ และวิธีการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่บันทึกในเอกสารข้อเสนอโครงการ (Project Design Document: PDD) ตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบความใช้ได้ (Validation) โครงการ T-VER และเป็นไปตามมาตรฐาน ISO 14064-3: 2019 และมีการรายงานผลการตรวจสอบความใช้ได้ (Validation report) ต่อ อบก. เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER (T-VER Registration Sub-committee)
“การทวนสอบ(Verification)” โครงการ T-VER หมายถึง กระบวนการที่ทำอย่างเป็นระบบ มีความเป็นอิสระ และบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการ T-VER ในรายงานการติดตามประเมินผลปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Monitoring Report: MR) ตามหลักเกณฑ์การทวนสอบ (Verification) โครงการ T-VER และเป็นไปตามมาตรฐาน ISO 14064-3: 2019 และมีการรายงานผลการทวนสอบ (Verification report) ต่อ อบก. เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER (T-VER Registration Sub-committee)
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก "คู่มือการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย"