รูปแสดงขั้นตอนการดำเนินโครงการภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด
หมายเหตุ
- DOE หมายถึง หน่วยงานปฏิบัติการในการตรวจสอบ (Designated Operational Entities)
- CDM EB หมายถึง คณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM Executive Board)
ขั้นตอนการดำเนินโครงการภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด
1. การแสดงเจตจำนงในการพัฒนาโครงการ ผู้พัฒนาโครงการต้องแจ้งความประสงค์ที่จะพัฒนาโครงการเป็นโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด โดยจะต้องยื่น แบบฟอร์ม F-CDM-Prior consideration (Prior Consideration of the CDM Form) ตามแบบฟอร์มที่ CDM EB กำหนด โดยให้ยื่นต่อ อบก. และ CDM EB ภายใน 6 เดือนนับจากวันที่เริ่มต้นดำเนินโครงการ (Starting Date)*
หมายเหตุ : * วันที่เริ่มต้นดำเนินโครงการ หมายความว่า วันที่เริ่มต้นผูกพันกับค่าใช้จ่าย หรือ การก่อสร้าง หรือ ลงมือปฏิบัติใดๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมของโครงการ เช่น การลงนามในสัญญาเกี่ยวกับการซื้อ เครื่องจักร การก่อสร้าง หรือ การกระทำใดๆ เกี่ยวกับกับกิจกรรมของโครงการ เป็นต้น
2. การออกแบบโครงการ (Project Design) ผู้พัฒนาโครงการจะต้องออกแบบลักษณะ ของโครงการและจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ (Project Design Document: PDD) โดยมีการกำหนดขอบเขตของโครงการ วิธีการคำนวณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วิธีการในการติดตามผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
3. การตรวจสอบเอกสารประกอบโครงการ (Validation) ผู้พัฒนาโครงการจะต้องว่าจ้างหน่วยงานกลางที่ได้รับมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารฯ หรือที่เรียกว่า Designated Operational Entity (DOE) ในการตรวจสอบเอกสารข้อเสนอโครงการว่าเป็นไปตามข้อกำหนดต่างๆ หรือไม่ ซึ่งรวมถึงการได้รับ ความเห็นชอบในการดำเนินโครงการจากประเทศเจ้าบ้านด้วย
4. การขึ้นทะเบียนโครงการ (Registration) เมื่อ DOE ได้ทำการตรวจสอบเอกสารข้อเสนอโครงการ และลงความเห็นว่าผ่านข้อกำหนดต่างๆ ครบถ้วน จะส่งรายงาน ไปยังคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM EB) เพื่อขอขึ้นทะเบียน โครงการ
5. การติดตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Monitoring) เมื่อโครงการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ CDM แล้ว ผู้พัฒนาโครงการจึงดำเนินโครงการตามที่เสนอไว้ในเอกสารข้อเสนอโครงการ และทำการติดตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ได้เสนอไว้เช่นกัน
6. การยืนยันการลดก๊าซเรือนกระจก (Verification) ผู้พัฒนาโครงการจะต้องว่าจ้างหน่วยงาน DOE ให้ทำการตรวจสอบและยืนยันการติดตามการลดก๊าซเรือนกระจก
7. การรับรองการลดก๊าซเรือนกระจก (Certification) เมื่อหน่วยงาน DOE ได้ทำการตรวจสอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว จะทำรายงานรับรองปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ดำเนินการได้จริงต่อคณะกรรมการบริหารฯ เพื่อขออนุมัติให้ออกหนังสือรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ หรือ CERs ให้ผู้ดำเนินโครงการ
8. การออกใบรับรองปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Issuance of CER) เมื่อคณะกรรมการบริหารฯ ได้รับรายงานรับรองการลดก๊าซเรือนกระจกจะได้พิจารณาออกหนังสือรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ หรือ CERs ให้ผู้พัฒนาโครงการต่อไป
ทั้งนี้ ในโครงการ CDM ขนาดใหญ่ หน่วยงานกลาง (DOE) ที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสารประกอบโครงการ (Validation) และการยืนยันการลดก๊าซเรือนกระจก (Verification) นั้น จะต้องเป็นหน่วยงานคนละหน่วยงานกัน (เช่น คนละบริษัท)