การตรวจติดตามโครงการ CDM จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ อบก. ได้กำหนดขึ้น โดยมีรายละเอียดของการตรวจติดตามในแต่ละหัวข้อดังต่อไปนี้
หมวดดัชนีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
-
ดัชนีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำหนดโดยพิธีสารเกียวโตของโครงการ
การติดตามในหัวข้อนี้จะเป็นการตรวจสอบตัวเลขปริมาณ CERs ที่ใช้ในการขึ้นทะเบียนโครงการหรือขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง โดยเปรียบเทียบกับค่าที่โครงการประเมินไว้ รวมไปถึงการสอบถามเพิ่มเติมหากมีการเปลี่ยนแปลงจากค่าที่ประเมินไว้ให้
-
ดัชนีมลพิษทางอากาศ
หัวข้อนี้จะเน้นไปที่เครื่องจักรและอุปกรณ์หลักที่ปล่อยมลพิษอากาศของโครงการ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องยนต์ผลิตไฟฟ้า (Gas engine) หม้อไอน้ำ (Boiler) เป็นต้น โดยจะตรวจสอบผลการตรวจวัดสารมลพิษที่ระบายออกจากจากปล่อง ทั้งนี้ผลตรวจวัดจะต้องไม่เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้จะดำเนินการติดตามผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันหรือลดผลกระทบของโครงการ
-
ดัชนีมลพิษทางเสียง
อบก. จะตรวจสอบผลกระทบทางเสียง ณ บ้านเรือน/ชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุดในรัศมี 500 เมตรจากแหล่งกำเนิดเสียงของโครงการ CDM เช่น เสียงจากเครื่องยนต์ผลิตไฟฟ้า, เครื่องดูดก๊าซ (Blower), กังหันไอน้ำ (Steam Turbine) ฯลฯ โดยจะตรวจสอบเปรียบเทียบเอกสารผลการตรวจวัดค่าระดับ (ระดับเสียงทั่วไป 24 ชั่วโมง, ระดับเสียงสูงสุด, และค่าระดับเสียงรบกวน) ทั้งนี้ผลตรวจวัดจะต้องไม่เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้จะดำเนินการติดตามผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันหรือลดผลกระทบของโครงการ เช่น การลดเสียงรบกวนโดยติดตั้งเครื่องจักรในอาคาร การติดตั้งฉนวนหรือวัสดุเพื่อดูดซับเสียง และการปลูกต้นไม้เป็นแนวกันเสียง เป็นต้น
-
ดัชนีมลพิษทางกลิ่น
หัวข้อจะเป็นการติดตามผลกระทบด้านกลิ่นที่เพิ่มขึ้นจากโครงการ CDM และติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องร้องเรียน
-
ดัชนีการจัดการน้ำทิ้ง
อบก. จะดำเนินการตรวจสอบเรื่องการจัดการน้ำทิ้งสำหรับโครงการ CDM ใน 2 กรณี คือมีการปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือมีการนำน้ำทิ้งไปให้กับเกษตรกรที่อยู่นอกพื้นที่โครงการ/ขอบเขตรั้วของโรงงาน กรณีที่โครงการมีการปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ อบก. จะตรวจสอบผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำเสียบ่อสุดท้าย (6 เดือนย้อนหลัง) ซึ่งผลตรวจวัดดังกล่าวจะต้องไม่เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และกรณีที่โครงการมีการนำน้ำทิ้งไปให้กับเกษตรกร อบก. จะตรวจสอบหนังสืออนุญาตให้นำน้ำทิ้งออกนอกโรงงานจากอุตสาหกรรมจังหวัดหรือกรมโรงงานอุตสาหกรรมและหนังสือยินยอมรับน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์จากเกษตรกร นอกจากนี้จะดำเนินการติดตามผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันหรือลดผลกระทบของโครงการ
ทั้งนี้หากโครงการที่มีการส่งน้ำเสียกลับคืนโรงงาน (โดยมีการทำหนังสือไว้) และเป็นคนละนิติบุคคลกัน ให้ถือว่าการจัดการน้ำทิ้งเป็นความรับผิดชอบของโรงงาน (นิติบุคคลอื่น) ในการรับไปบำบัดต่อไป
-
ดัชนีการจัดการของเสีย
การตรวจสอบในหัวข้อนี้จะเริ่มต้นด้วยการระบุประเภทและปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ CDM เช่น ตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย ขี้เถ้าจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เป็นต้น รวมไปถึงการตรวจสอบวิธีการจัดการของเสียโดยอ้างอิงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้ามีการนำของเสียออกนอกโครงการ ต้องมีการขออนุญาตนำของเสียออกนอกโรงงานจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหรือกรมโรงงานอุตสาหกรรม (แบบ สก. 2) หรือถ้าเก็บของเสียไว้ในโครงการเกิน 90 วัน ต้องมีการขออนุญาตจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหรือกรมโรงงานอุตสาหกรรม (แบบ สก. 1)
-
ดัชนีมลพิษดิน
อบก. จะดำเนินการตรวจสอบการจัดการปัญหาดังกล่าวโดยพิจารณาองค์ประกอบของของเสียและน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ CDM เช่น น้ำเสีย ขี้เถ้า ฯลฯ หากมีองค์ประกอบของสารอันตราย อบก. จะพิจารณาถึงวิธีการจัดการ/มาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนหรือก่อให้เกิดมลพิษทางดิน เช่น กรณีที่มีการฝังกลบของเสียในโรงงานให้ขอสำเนาเอกสารผลการตรวจวัดคุณภาพดิน เป็นต้น
-
ดัชนีการปนเปื้อนของน้ำใต้ดิน
การติดตามในหัวข้อนี้จะพิจารณาองค์ประกอบของของเสียและน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ CDM เช่น น้ำเสีย ขี้เถ้า ฯลฯ หากมีองค์ประกอบของสารอันตราย อบก. จะพิจารณาถึงวิธีการจัดการ/มาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน รวมไปถึงการตรวจสอบผลการตรวจวัดคุณภาพของน้ำใต้ดิน
-
ดัชนีการจัดการของเสียอันตราย
การตรวจติดตามในหัวข้อนี้เริ่มด้วยการระบุประเภทของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ CDM ยกตัวอย่างเช่น น้ำมันหล่อลื่น แผงโซลาร์เซลล์ที่เสื่อมสภาพ ฯลฯ รวมไปถึงวิธีการจัดการของเสียโดยอ้างอิงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าต้องการเก็บของเสียอันตรายไว้ในโครงการเกิน 90 วัน ต้องมีการขออนุญาตจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหรือกรมโรงงานอุตสาหกรรม (แบบ สก. 1) ถ้ามีการนำของเสียอันตรายออกนอกโครงการ ต้องมีการขออนุญาตนำของเสียอันตรายออกนอกโรงงานจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหรือกรมโรงงานอุตสาหกรรม (แบบ สก. 2) และต้องมีใบกำกับการขนส่งจากผู้รับของเสียอันตรายที่ต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
-
ดัชนีความต้องการใช้น้ำและประสิทธิภาพการใช้น้ำของโครงการ
อบก. จะติดตามข้อมูลการใช้น้ำของโครงการ CDM โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการประเภทการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลและการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เช่น ที่มาแหล่งน้ำ ความจุของบ่อเก็บน้ำใช้ ปริมาณการใช้น้ำ รวมไปถึงวิธีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์
ทั้งนี้ หากโครงการ CDM มีการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ เช่น คลองชลประทาน น้ำบาดาล โครงการจะต้องมีใบอนุญาตให้ใช้น้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปการตรวจสอบผลกระทบของการใช้น้ำของโครงการต่อชุมชนหรือการให้ชุมชนข้างเคียงใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำของโครงการ
-
ดัชนีการพังทลายของดิน และการกัดเซาะชายฝั่ง/ชายตลิ่งของแม่น้ำ
การติดตามในหัวข้อจะพิจารณาเฉพาะโครงการ CDM ที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำสาธารณะ โดยประเมินผลกระทบ ณ สถานที่จริง รวมไปถึงติดตามผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันหรือลดผลกระทบ
-
ดัชนีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายใต้โครงการ
อบก. จะติดตามข้อมูลการปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มเติมโดยจะพิจารณาทั้งในส่วนของการปลูกในพื้นที่โครงการและการปลูกนอกพื้นที่โครงการ ข้อมูลที่จะติดตามประกอบด้วยจำนวนต้นไม้ พื้นที่ปลูก ตำแหน่งและชนิดของพันธุ์ไม้ยืนต้น
หมวดดัชนีด้านสังคม
-
ดัชนีการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การติตตามในหัวข้อนี้จะให้ความสำคัญไปที่การเปิดโอกาสให้ชุมชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมกับโครงการ เช่น การให้ชุมชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการร่วมในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องอื่นๆ ของโครงการ
-
ดัชนีการสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาสังคม วัฒนธรรม และแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
อบก. จะติดตามผลการดำเนินงานในด้านการสนับสนุนทางด้านการเงินหรือสิ่งของให้แกชุมชม รวมถึงบทบาทของโครงการในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ยกเว้นการจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า ซึ่งโครงการ CDM ประเภทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือชีวมวลเข้าสู่ระบบสายส่งต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด
-
ดัชนีสุขภาพอนามัยของคนงานและชุมชนใกล้เคียง
หัวข้อนี้จะเน้นไปที่การติดตามผลการดำเนินงานตามแผนการตรวจสุขภาพอนามัยของคนงานรวมไปถึงการปฏิบัติงานตาม พรบ. คุ้มครองแรงงาน กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัย นอกจากนี้การติดตามให้ครอบคลุมไปถึงการสนับสนุนเพิ่มเติมด้านสุขภาพ เช่น ตรวจสุขภาพประจำปีให้ชาวบ้านหรือจัดหน่วยแพทย์ตรวจรักษาชาวบ้าน เป็นต้น
หมวดดัชนีด้านการพัฒนาและ/หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี
-
ดัชนีการพัฒนาเทคโนโลยี
อบก. จะดำเนินการตรวจสอบจำนวนและคุณลักษณะของเครื่องจักรอุปกรณ์หลักที่ติดตั้งเป็นไปตามที่ระบุในเอกสารข้อเสนอโครงการ (PDD) หรือไม่ รวมไปถึงการติดตามการเปลี่ยน/ติดตั้งเพิ่มเติมหรือปรับปรุงเครื่องจักรหลักที่ติดตั้งในโครงการ โดยให้ระบุถึงสาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงและแหล่งที่มาของเทคโนโลยี
-
ดัชนีแผนการดำเนินงานเมื่อสิ้นสุดโครงการหรือสิ้นสุดระยะเวลา Crediting Period
การติดตามในหัวข้อนี้จะสอบถามถึงแผนการดำเนินโครงการหลังจากหมดระยะเวลาคิดคาร์บอนเครดิต เช่น แผนการบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ พร้อมเหตุผลสนับสนุนในการดำเนินงานต่อของโรงงาน เช่น สัญญาซื้อขายไฟฟ้า สัญญการกู้เงินจากต่างประเทศ ฯลฯ รวมไปถึงการสอบถามถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงแผนการดำเนินงานเดิม
-
ดัชนีแผนการฝึกอบรมบุคลากร
อบก. จะติดตามถึงแผนการฝึกอบรมบุคลากรในโครงการ CDM เพื่อเพิ่มทักษะในการปฏิบัติงาน เช่น หลักสูตร ผู้เข้าอบรม วันที่ เป็นต้น ทั้งนี้อาจรวมไปถึงการติดตามในเรื่องของการเผยแพร่องค์วามรู้ของโครงการสู่สาธารณะ เช่น การอนุญาตให้หน่วยงานภายนอกเข้าเยี่ยมชมโครงการ การถ่ายองค์ความรู้ของโครงการให้แก่นักเรียนที่โรงเรียน ฯลฯ
หมวดดัชนีด้านเศรษฐกิจ
-
ดัชนีการจ้างงาน
การติดตามในหัวข้อนี้จะสอบถามถึงการจ้างงานที่เกิดขึ้นจากโครงการ CDM ยกตัวอย่างเช่น จำนวนพนักงาน จำนวนพนักงานที่คนในท้องถิ่น โดยครอบคลุมทั้งในส่วนของการจ้างงานแบบประจำและแบบชั่วคราว
-
ดัชนีรายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น
อบก. จะติดตามในเรื่องรายได้เพิ่มขึ้นหรือผลประโยชน์อื่นๆ ของผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับจากการพัฒนาโครงการ CDM เช่น เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายชีวมวล เป็นต้น
-
ดัชนีการใช้พลังงานทดแทน
การติดตามในหัวข้อนี้จะพิจารณาเฉพาะโครงการ CDM ประเภทการใช้พลังงานทดแทน เช่น การผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ฯลฯ โดยให้ประเมินร้อยละของการใช้ พลังงานทดแทนเมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานที่ใช้
-
ดัชนีประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
ในหัวข้อนี้ อบก. จะพิจารณาการติดตามเฉพาะโครงการ CDM ประเภทเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น การนำความร้อนทิ้งจากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์มาผลิตไฟฟ้า การเปลี่ยนหลอดไฟแสงสว่าง ฯลฯ โดยให้ประเมินร้อยละของประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินโครงการ CDM
-
ดัชนีการการใช้วัสดุอุปกรณ์ภายในประเทศ
การติดตามในหัวข้อนี้จะพิจารณาถึงการใช้เครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ต่างๆ ภายในประเทศ และต่างประเทศที่ติดตั้งในโครงการ CDM โดยสอบถามถึงสัดส่วนร้อยละของมูลค่าการใช้ เครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ในประเทศต่อมูลค่าการลงทุนของโครงการ