จากหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) ภายใต้พิธีสารเกียวโต ที่ระบุให้โครงการที่ดำเนินการจะต้องมีส่วนช่วยในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ ประเทศเจ้าบ้าน ดังนั้น ผู้พัฒนาโครงการ CDM จะต้องดำเนินการเพื่อขอหนังสือให้คำรับรองโครงการว่าเป็นโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Letter of Approval: LoA) จากหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงานตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Designated National Authority: DNA) ของประเทศเจ้าบ้านที่โครงการ CDM ตั้งอยู่ เพื่อยืนยันว่าโครงการที่เสนอนั้น เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยสมัครใจ และมีส่วนช่วยในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย LoA เป็นเอกสารหนึ่งที่นำไปใช้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ CDM ที่คณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM Executive Board: CDM EB)
สำหรับประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน): อบก. ในฐานะ DNA ของประเทศไทย ทำหน้าที่ในการพิจารณาให้คำรับรองโครงการ CDM ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Criteria: SD-Criteria) เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้คำรับรองโครงการตามกลไกการพัฒนาที่ สะอาด หลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วย 4 หมวดดัชนี ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม สังคม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และเศรษฐกิจ รายดัชนีของหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืนจะขึ้นกับลักษณะโครงการ ประเภทโครงการหลัก ๆ ได้แก่ โครงการทั่วไป โครงการภาคขนส่ง โครงการภาคป่าไม้ และโครงการ PoA โดยโครงการที่จะได้รับการรับรองว่าเป็นโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาดนั้น จะต้องผ่านหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ อบก.กำหนดขึ้น