“โครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง” คือ โครงการ T-VER ประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้พัฒนาโครงการมีความประสงค์เข้าร่วมโดยสมัครใจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกำหนดมาตรฐานขั้นสูงและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติภายใต้ข้อ 6 ของความตกลงปารีส และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Premium T-VER”
ผู้พัฒนาโครงการที่มีสิทธิยื่นคำขอขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(1) เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย กรณีเป็นนิติบุคคลต่างด้าวต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือ
(2) เป็นกลุ่มบุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ หรือมีหนังสือการจัดตั้งกลุ่มบุคคลหรือคณะบุคคล หรือ
(3) เป็นบุคคลธรรมดา และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
การพัฒนาโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง
- โครงการใดที่ประสงค์จะพัฒนาเป็นโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูงต้องเป็นกิจกรรมที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ที่สามารถตรวจวัดการลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง (real) และถาวร (permanent) มีการดำเนินงานเพิ่มเติมจากการดำเนินงานตามปกติ (additional) ไม่มีการนับซ้ำ (double counting) สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีการป้องกันผลกระทบด้านลบ (safeguards) ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบ (do-no-net harm) ตามแนวทางที่คณะกรรมการกำหนด
- โครงการที่ประสงค์จะพัฒนาเป็นโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูงต้องเริ่มกระบวนการพัฒนากิจกรรมที่เป็นโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูงก่อนวันเริ่มดำเนินโครงการ โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศที่คณะกรรมการกำหนด
หลักเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง
(1) เป็นโครงการที่ดำเนินกิจกรรมเป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมีการดำเนินงานสอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยสำหรับโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง
(2) มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย และมีการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะอย่างโปร่งใส
(3) กิจกรรมของโครงการไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบ หรือมีแผนการจัดการบรรเทาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบ (do-no-net harm) และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDGs) มากกว่าสองด้าน
(4) กิจกรรมโครงการเป็นการดำเนินงานเพิ่มเติมจากการดำเนินงานตามปกติ (Additionality) ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
(5) กิจกรรมโครงการสอดคล้องกับระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ
(6) เป็นโครงการที่ประเมินศักยภาพการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของโครงการเป็นไปตามระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ
(7) เอกสารข้อเสนอโครงการต้องได้รับการตรวจสอบความใช้ได้จากผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากคณะกรรมการ ยกเว้นกลุ่มโครงการย่อยของโครงการแบบแผนงานตั้งแต่กลุ่มโครงการย่อยลำดับที่ 2 เป็นต้นไป
(8) ใช้วิธีการติดตามผลและรายงานการลดก๊าซเรือนกระจกตามระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ
หลักเกณฑ์การพิจารณารับรองคาร์บอนเครดิตโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง
- เป็นโครงการที่ดำเนินกิจกรรมเป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องและ มีการดำเนินงานสอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย
- ติดตามผลการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจก และเก็บข้อมูลโครงการ T-VER ตามที่ระบุ ในเอกสารข้อเสนอโครงการ (Project Design Document: PDD) ที่ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER
- ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ขอรับการรับรองคาร์บอนเครดิตต้องคำนวณตามระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามที่ได้เสนอในเอกสารข้อเสนอโครงการ (Project Design Document: PDD)
- รายงานการติดตามประเมินผลปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Monitoring Report) และรายงานการติดตามประเมินผลความเสี่ยงต่อการสูญเสียคาร์บอนจากความไม่ถาวรของโครงการ (Non-permanence Risk Report) (ถ้ามี) ต้องได้รับการทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากคณะกรรมการ
ผู้พัฒนาโครงการรายใดประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง ให้ยื่นเอกสารแจ้งความประสงค์ในการพัฒนาโครงการ (Modality of communication: MoC) ตามแบบที่องค์การกำหนด ไปยังองค์การก่อนวันเริ่มดำเนินโครงการ