การจัดการเครดิตสำรอง (Buffer credit)
“เครดิตสำรอง” (Buffer Credits) หมายความว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกของผู้พัฒนาโครงการที่ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตตามที่กำหนดไว้ใน ระเบียบคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) พ.ศ. 2566
องค์การได้หักไว้และบันทึกในระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิตขององค์การ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงจากความไม่ถาวรของการดำเนินโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง สำหรับโครงการประเภทที่ 13 และ 14 เว้นแต่เป็นกิจกรรมลดก๊าซมีเทนและหรือไนตรัสออกไซด์จากการเกษตร
การดำเนินกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกของโครงการประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร แตกต่างจากการดำเนินโครงการประเภทอื่น ๆ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียคาร์บอนจากความไม่ถาวรของโครงการ (non-permanence risk) ที่ได้จากการดำเนินโครงการ จากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งปัจจัยทางชีวภาพ ปัจจัยสิ่งแวดล้อม และจากมนุษย์ เช่น การลักลอบตัดไม้ การเกิดไฟป่า การระบาดของโรคและแมลง เป็นต้น
ดังนั้น จำเป็นต้องมีการกำหนดอัตราการสำรองคาร์บอนเครดิตที่ต้องหักเข้าบัญชีเครดิตสำรอง (pooled buffer account) ของระบบทะเบียน และผู้พัฒนาโครงการต้องมีการจัดทำและยื่น รายงานการติดตามประเมินผลความเสี่ยงต่อการสูญเสียคาร์บอนจากความไม่ถาวรของโครงการ (Non-permanence Risk Report) ที่ผ่านการทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจตามแบบฟอร์มที่กำหนด ทุก ๆ ห้าปีนับแต่วันเริ่มดำเนินโครงการ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการถอนเครดิตสำรอง หรือการยกเลิกเครดิตสำรอง หรือการระงับเครดิตสำรอง ตามหลักเกณฑ์ที่ อบก. กำหนด