ในส่วนของประเทศไทยได้มีการดำเนินการภายใต้โครงการ PMR ดังนี้
1. ธนาคารโลกได้เชิญชวนให้ประเทศที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการจัดส่งข้อเสนอให้ธนาคารโลกพิจารณาให้การสนับสนุน อบก. ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศเพิ่มขึ้น จึงได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยได้จัดส่งเอกสารแสดงเจตจำนง (Expression of Interest: EoI) ให้กับธนาคารโลก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 จากนั้น อบก. ได้นำเสนอกรอบการดำเนินกิจกรรมโครงการในการประชุม ณ เมืองบาร์เซโลนา ราชอาณาจักรสเปน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2554 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมโดยอนุมัติเงินสนับสนุน จำนวน 350,000 เหรียญสหรัฐ ให้กับประเทศไทยเพื่อใช้ในขั้นตอนการเตรียมการ ซึ่งประกอบด้วย การจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการและข้อเสนอทางการเงิน (MRP) รวมทั้งการนำเสนอข้อเสนอโครงการต่อที่ประชุม PA เพื่อขอทุนดำเนินกิจกรรมในขั้นตอนการดำเนินการต่อไป
2. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อข้อตกลงรับความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Grant Agreement) จากธนาคารโลกโครงการ Market Readiness Proposal Partnership for Market Readiness (PMR) Multi-Donor Trust Fund เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 และได้มีการลงนามในข้อตกลงเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการลงนาม
3. อบก. ได้ทำบันทึกข้อตกลง (MoU) ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 ในการร่วมมือดำเนินกิจกรรมต่างๆภายใต้ “โครงการพัฒนาการลดก๊าซเรือนกระจกในอาคารควบคุมและโรงงานควบคุมโดยใช้กลไกตลาด Energy Performance Certificate Scheme (EPC)”
4. ภายใต้โครงการ PMR อบก. จะดำเนินการพัฒนากลไกตลาด 2 กลไก ได้แก่ Energy Performance Certificate scheme (EPC) และ Low Carbon City program (LCC) เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจในประเทศไทย เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ คณะกรรมการ อบก. ในการประชุมครั้งที่ 9/2556 จึงได้มีการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการพัฒนาความพร้อมด้านกลไกตลาดเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก” ลงวันที่ 16 กันยายน 2556 ทั้งนี้คณะอนุกรรมการโครงการฯประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 16 หน่วยงาน นอกจากนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานกลไกส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจก (เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานกลไก EPC) และคณะทำงานกลไกส่งเสริมการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ (เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานกลไก LCC) รวมทั้งมอบหมายให้คณะทำงานกฎหมาย ซึ่ง อบก.ได้แต่งตั้งอยู่ก่อนแล้ว ทำหน้าที่ดูแลงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโครงการ PMR เพิ่มเติมด้วย
5. อบก. ได้ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมโครงการภายใต้กรอบการดำเนินงานที่ อบก.เสนอต่อธนาคารโลก ซึ่งได้ผ่านการคัดเลือกตามระเบียบวิธีการของธนาคารโลกเพื่อมาจัดทำร่างข้อเสนอโครงการ ตามขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ PMR หลังจากการจัดทำ (ร่าง) เอกสารข้อเสนอโครงการ และส่งให้ฝ่ายเลขานุการ PMR แล้ว (ร่าง) เอกสารข้อเสนอโครงการจะถูกพิจารณาเพื่อให้ข้อคิดเห็นโดยฝ่ายเลขานุการ PMR และผู้เชี่ยวชาญที่ฝ่ายเลขานุการว่าจ้างมาโดยจะเป็นการประชุมหารือร่วมกันกับประเทศที่ดำเนินโครงการ (Country Visit) ซึ่งขั้นตอนนี้ได้ดำเนินการเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2556 จากนั้น อบก. ได้มีการปรับแก้เอกสารตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ
6. อบก. ได้จัดส่ง (ร่าง) เอกสารข้อเสนอโครงการ (Draft MRP) ต่อสำนักเลขานุการ PMR เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2556 และนำเสนอ (ร่าง) เอกสารข้อเสนอโครงการต่อที่ประชุม PA ครั้งที่ 7 ในเดือนตุลาคม 2556 ณ เมืองมาราเกช ประเทศโมร็อคโค ทั้งนี้ ที่ประชุมและผู้เชี่ยวชาญได้มีข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปรับแก้เอกสารข้อเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์ก่อนการนำเสนออีกครั้งในเดือนมีนาคม 2557
7. อบก. ได้นำเสนอเอกสารข้อเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์ต่อที่ประชุม PA ครั้งที่ 8 ในเดือนมีนาคม 2557 ณ เมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม PA และได้รับการสนับสนุนเงินจำนวน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อมาดำเนินกิจกรรมต่างๆใน 4 ส่วนหลัก ดังนี้
7.1 การศึกษาและการเสนอกรอบโครงสร้างทางด้านกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการในรูปแบบ Emission Trading Scheme (ETS)
7.2 การเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการกลไก Energy Performance Certificate scheme (EPC) ซึ่งจะเน้นในการจัดการข้อมูลด้านพลังงาน และการพัฒนาระบบ MRV
7.3 การเตรียมความพร้อมของ Low Carbon City program (LCC) การศึกษาศักยภาพในการลด ก๊าซเรือนกระจกและการจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของเทศบาล
7.4 การศึกษาการกำหนดราคาของคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจาก LCC program และมาตรการจูงใจสำหรับผู้ซื้อเครดิตจาก LCC program
กลไกตลาดที่ อบก. เสนอเพื่อดำเนินการภายใต้โครงการ PMR ประกอบด้วย 2 กลไก ได้แก่ 1) Energy Performance Certificate Scheme (EPC) เป็นแผนงานส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารควบคุมและโรงงานควบคุม และ 2) Low Carbon City Program (LCC) เป็นการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) ของเทศบาลและชุมชน ซึ่งกลไกทั้งสองมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายของกระทรวงพลังงาน ได้แก่ แผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
การพัฒนาและการดำเนินกลไก EPC scheme และ LCC program จะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาระบบตลาดคาร์บอนในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคต ดังรูป
ความเชื่อมโยงของกลไก EPC scheme และ LCC program กับตลาดคาร์บอนภายในประเทศในอนาคต
8. อบก. ได้เตรียมเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อการลงนามเอกสารข้อตกลงรับการสนับสนุนทางการเงิน ได้แก่ แผนการดำเนินการ แผนการจัดซื้อจัดจ้าง แผนการเบิกจ่าย ตามขั้นตอนของธนาคารโลก และได้จัดส่งเอกสารให้ทางธนาคารโลก จากนั้นธนาคารโลกได้ร่างเอกสารข้อตกลง (Draft Grant Agreement) และนำมาพิจารณาร่วมกันระหว่างธนาคารโลก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และ อบก.
ขณะนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะอยู่ระหว่างการเตรียมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การเห็นชอบ ในการลงนามข้อตกลงการรับเงินสนับสนุนต่อไป
120 หมู่ที่ 3 ชั้น 9 อาคารรัฐประศาสนภักดี
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
โทรศัพท์ : 02-141 9841-9 | โทรสาร: 02-143 8404
Copyright © 2017 All Rights Reserved.
ติดต่อเรา | ติดตามเรา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล