องค์การบริการจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. ได้จัดงานสัมมนา “เมืองกับการลดก๊าซเรือนกระจก” ให้กับเทศบาลที่เข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมด้านกลไกตลาดเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก (Partnership for Market Readiness: PMR) ในวันที่ 18 ม.ค. 2561 ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกต กรุงเทพมหานคร โดยมี คุณประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเป็นประธานเปิดงานสัมมนา มีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 76 คน
ในงานสัมมนาได้มีการนำเสนอข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญและมีการเสวนารายละเอียด ดังนี้
โดย Dr. Malcolm Shield, Climate Policy Manager,C40
C40 Cities Climate Leadership Group หรือกลุ่มเมืองใหญ่ผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ คือ เครือข่ายเมืองใหญ่ทั่วโลกที่มีความมุ่งมั่นจะจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเมืองถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในด้านผลกระทบและศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้เกิดการบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส ในปี 2030 ค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวของเมืองที่เข้าร่วม C40 จะต้องลดลงมาอยู่ที่ 3 ตันต่อคน ทั้งนี้ในการจะบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าวเมืองจำเป็นจะต้องจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกเพื่อช่วยให้เมืองสามารถกำหนดเป้าหมาย มาตรการและกิจกรรมในการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเหมาะสม การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกสามารถทำได้ตามคู่มือ GPC ซึ่งมีข้อดีคือสามารถตรวจวัดได้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ครอบคลุมการปล่อยจากทุกกิจกรรม และ สามารถเชื่อมโยงกับแผนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชาติได้
โดย Ms. Hanah Paik, Cities Lead, Asia Pacific, Carbon Disclosure Project
ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงปารีสเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยแสดงเจตจำนงว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% จากการดำเนินงานปกติ ภายในปี ค.ศ. 2030 การดำเนินงานนี้สามารถเริ่มต้นได้จากการจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งCDP หรือโครงการการเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร มีหน้าที่พัฒนาระบบการตรวจวัด รายงานและเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม โดยที่การเปิดเผยข้อมูลกับCDPจะช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างเมืองและองค์กรอื่นๆ ช่วยในการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการของเมือง ช่วยรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนต่อไป
โดย Mr. Makoto Kato, OECC
กรุงเทพซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ได้มีการจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ประกอบด้วย การพัฒนาด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการใช้พลังงานทดแทน การจัดการขยะและน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ผังเมืองสีเขียว และการปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่ง ภาคพลังงาน และภาคการจัดการขยะและน้ำเสีย 16.75%, 13.22% และ 4.06% ตามลำดับ และเพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจก 8.89% จากภาคผังเมืองสีเขียว เมื่อเทียบกับการดำเนินงานปกติในปีค.ศ. 2020 ซึ่งมีมาตรการการดำเนินงานประกอบด้วย การสนับสนุนระบบขนส่งมวลชน สนับสนุนการใช้ระบบการจัดการพลังงานในภาคเอกชน การผลิตพลังงานจากขยะ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยกทม.มีความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและองค์กรนานาชาติในการจัดทำแผนการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพโดยจะมีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกครั้งหลังจากการดำเนินโครงการแล้ว
โดย คุณเจษฎา สกุลคู ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก อบก.
อบก. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัดให้มีการจัดทำข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการศึกษาศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งในระดับองค์กรและระดับเมือง เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำโดยได้มีการดำเนินการตั้งแต่ปีพ.ศ.2557 จนถึงปีพ.ศ. 2560 ในระดับองค์กรทั้งหมด 127 เทศบาล ในระดับเทศบาลทั้งหมด 71 เทศบาล และในระดับจังหวัดทั้งหมด 4 จังหวัด ซึ่งมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริบทของเมืองนั้นๆ ว่าเป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองอุตสาหกรรม หรือเมืองสำหรับการอยู่อาศัย มาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกของเทศบาลได้แก่ การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างเป็นชนิดLED การติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ การผลิตก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรหรือเศษอาหาร การผลิตปุ๋ยจากเศษกิ่งไม้และใบไม้ และการนำขยะมูลฝอยไปผลิตRDFเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง
โดย คุณบุญรอด เยาวพฤกษ์ บริษัท The Creagy จำกัด
การกำหนดมาตรการ และจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจก สามารถเริ่มต้นได้จากการพิจารณาแผนที่มีอยู่เดิมเช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2558-2593 แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ภายหลังปี พ.ศ. 2563 แผนพัฒนาจังหวัด 4 ปี แผนพลังงานจังหวัด แผนการจัดการขยะ และอื่นๆ แล้วจึงวิเคราะห์และคัดเลือกมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก โดยการทบทวนมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่เมืองอื่นๆใช้อยู่ เสนอมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกใหม่ๆ ประเมินปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกในแต่ละมาตรการ คัดเลือกมาตรการที่เหมาะสมกับบริบทเมือง ทั้งมาตรการภาคบังคับ และภาคสมัครใจ โดยในการจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจก ควรจัดลำดับมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และประเมินเงินลงทุนและทรัพยากรที่ต้องใช้ รวมถึงการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกไปสู่แผนพัฒนาจังหวัดในอนาคตได้
120 หมู่ที่ 3 ชั้น 9 อาคารรัฐประศาสนภักดี
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
โทรศัพท์ : 02-141 9841-9 | โทรสาร: 02-143 8404
Copyright © 2017 All Rights Reserved.
ติดต่อเรา | ติดตามเรา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล